สังเคราะห์และถอดบทเรียนจากงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ปริมาณน้ำฝนสูงสุดของประเทศไทยด้วยแบบจำลองค่าสุดขีดกรณีกระบวนการไม่คงที่”

ชื่อทุนอุดหนุน  : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีงบประมาณ 2565
ผู้เรียบเรียง   :   รศ.ดร. ปิยภัทร บุษบาบดินทร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักภายใต้กระบวนการไม่คงที่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในรูปแบบแนวโน้มเนื่องมาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ  ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้สร้างแบบจำลองภายใต้กระบวนการไม่คงที่สำหรับปริมาณน้ำฝนสูงสุดรายวันแล้วนำมาคัดเลือกเป็นปริมาณน้ำฝนสูงสุดรายปี (AMP1) และปริมาณน้ำฝนสูงสะสม 2 วัน (AMP2)  ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลระหว่าง ปี ค.ศ. 1984-2020 ทั้งหมด 71 สถานี และระหว่าง ปี ค.ศ.1960-2020 ทั้งหมด 8 สถานี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทย ผู้วิจัยได้นำแบบจำลองค่าสุดขีดนัยทั่วไป (Generalized extreme value (GEV)) มาใช้ในการวิจัยครั้งนี้ 

ผลการศึกษาพบว่า ผู้วิจัยได้สร้างแบบจำลองทั้งหมด 16 แบบที่มีความแตกต่างกันในส่วนของฟังก์ชันของพารามิเตอร์บ่งตำแหน่ง และพารามิเตอร์บ่งขนาด  ในแต่ละสถานีจะเลือกแบบจำลองที่เหมาะสมด้วย BIC และ AIC  ค่าระดับการเกิดซ้ำจะปรากฏตามปี   สถานีที่มีระดับปริมาณน้ำฝนเกิดซ้ำมากที่สุดสำหรับข้อมูล AMP1 และ AMP2 ได้แก่ จังหวัดตราด  สมุย และนราธิวาส  ผู้วิจัยพบว่าเมื่อใช้แบบจำลองค่าสุดขีดนัยทั่วไปกับข้อมูลประเทศไทย มี 22 สถานีที่ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ 10 สถานีมีแนวโน้มปริมาณน้ำฝนลดลง  แสดงดังภาพ

ภาพแผนที่ค่าประมาณปริมาณน้ำฝนสูงสุดรายปีเกิดซ้ำ 50 ปี ของปี ค.ศ. 1990, 2020, and 2050 ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย

เอกสารอ้างอิง

Lee, Y., Shin, Y.G., Park, J.S., Boo, K.O. (2020) Future projections and uncertainty assessment of 253 precipitation extremes in the Korean peninsula from the CMIP5 ensemble. Atmos. Sci. Lett. e954, 254 doi:10.1002/asl.954.

S. Coles, An Introduction to Statistical Modeling of Extreme Values, London: Springer-Varlag, 2001.

Thai Meteorological Department (TMD) (2021) General Climatic Conditions [Accessed May 17 2021]. 271 https://www.tmd.go.th.

Busababodhin, P., Siriboonand, M., Kaewmun, A. (2015) Modeling of Extreme Precipitation in Upper Northeast of Thailand (in Thai). Burapha Sci Jour, 20, 106–117.

ปิยภัทร บุษบาบดินทร์ และ อรุณ แก้วมั่น. (2558). สถิติค่าสุดขีด. วารสารวิชาการพระจอมเกล้า พระนครเหนือ, 2(25), 315-324.